รวมธนาคารดัง ออกโรงเตือนมิจฉาชีพหลอกล้วงข้อมูล



 
              ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางธนาคารสะดวกสบายมากขึ้นเพราะสามารถทำทุกอย่างผ่านมือถือได้ทั้งสะดวกและรวดเร็ว ยิ่งในยุคดิจิตอลแบบนี้ แต่ก็เป็นอีกช่องทางที่สบช่องให้มิจฉาชีพล่อลวงเหยื่อเพื่อล้วงข้อมูลได้ ทั้ง เว็บไซต์ปลอม, SMS ปลอม, อีเมลปลอม, เฟซบุ๊กปลอม, LINE จะสังเกตได้ว่าสิ่งที่เรานิยมใช้กันทุกวัน จนเกิดเป็นความคุ้นเคยและไม่ได้เอะใจว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ มักจะถูกเลือกมาเป็นช่องทางในการติดต่อเหยื่อของบรรดามิจฉาชีพ ซึ่งหลายๆธนาคารก็ได้ออกมาเตือนผู้ใช้บริการให้ระวังตัวกันมากขึ้น 'จะมีธนาคารไหนบ้างมาดูกันได้เลย'



ระวัง! LINE SCB ปลอม หลอกขอข้อมูลส่วนตัว
 
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้ออกเตือนผู้ใช้งานเกี่ยวกับ LINE ปลอมที่อ้างตัวเป็นบัญชี SCB EASY, SCB Thailand, SCB Connect เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นหมายเลขบัตรประชาชน, วันเดือนปีเกิด, หรือแม้แต่รหัสรักษาความปลอดภัยและ OTP เองก็ตาม วิธีสังเกตง่ายๆ เพื่อจะตรวจสอบว่า LINE ที่เห็นนั้น เป็นของจริงหรือของปลอมกันดีกว่า


1. LINE ของปลอม จะทักเข้าไปหาลูกค้าก่อน โดยผู้ใช้จะเห็นคำว่า เพิ่มเพื่อน อยู่ด้านบน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้กับแอคเคาท์นี้ยังไม่ได้เป็นเพื่อนกัน ส่วน LINE จริง ผู้ใช้จะต้องเป็นคนเพิ่มเพื่อนเอง ซึ่ง LINE จริงนี้จะไม่สามารถทักเข้าไปหาลูกค้าก่อนได้เลย

2. LINE ของปลอม จะไม่มีเครื่องหมาย โล่สีเขียว หน้าชื่อแอคเคาท์ ในขณะที่ LINE ของจริง จะมี โล่สีเขียว หรือสีน้ำเงิน วางอยู่หน้าชื่อแอคเคาท์โดดเด่นชัดเจน เพื่อแสดงว่าเป็นบัญชีทางการ หรือบัญชีที่ได้รับการรับรองจาก LINE ประเทศไทยแล้ว สามารถเชื่อถือได้







 
เมื่อมั่นใจแล้วว่า LINE ที่ทักเข้ามานั้นเป็นของปลอมของพวกมิจฉาชีพ แนะนำให้กดปุ่มรายงานปัญหา ในทันที และอาจจะบล็อคแอคเคาท์นั้นเพื่อไม่ให้เค้ามายุ่งกับเราได้อีก เพื่อความมั่นใจว่า แอคเคาท์ที่เราใช้เป็นของแท้แน่นอน เราควรจะเลือกเพิ่มเพื่อนกับบรรดาบริษัท หรือแบรนด์ที่เราเป็นลูกค้า ผ่านแหล่งที่น่าเชื่อถือได้โดยตรง เช่น จากร้านค้า หรือ เว็บไซต์ทางการของแบรนด์นั้นๆ
 
สำหรับ LINE แอคเคาท์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ของแท้มีเพียงแค่สองรายการด้านล่างเท่านั้น

 
LINE SCB Thailand http://line.me/R/ti/p/@scb_thailand
LINE SCB Connect http://line.me/R/ti/p/@scbconnect
 

ที่มา: https://www.scb.co.th

 

ธ.ก.ส. เตือนภัยประชาชน SMS ข้อความหลอกลวง

หากได้รับ SMS ดังนี้ให้ระวัง !

1. SMS แจ้งว่า ธ.ก.ส.โอนเงินผิดและระบุให้โอนเงินคืนไปยังเลขบัญชีที่กำหนด
 
2. SMS ขอหมายเลขบัตรประชาชน
 
3. SMS ขอเลขที่บัญชีเงินฝาก หรือรหัสบัตร ATM
 
4. SMS ขอรหัส OTP


หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center โทร. 0 2555 0555
หรือ เว็บไซต์ ธ.ก.ส.
https://www.baac.or.th/th/
 




ที่มาข้อมูลจาก แฟนเพจ สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station


 


ระวังมิจฉาชีพสวมรอยเป็นธนาคารออมสิน
 
ธนาคารออมสินเตือนประชาชนให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่ในสื่อโซเชียล โดยได้ปลอมเพจ และไลน์ธนาคารออมสิน GSB Society และเข้าไปแสดงความคิดเห็นพร้อมชักชวนให้เป็นเพื่อนในไลน์ เสมือนว่าเป็นพนักงานธนาคารที่จะให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือได้ และหลอกถามข้อมูลทางการเงิน เช่น ขอทราบเลขที่สมุดบัญชีเงินฝาก เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่าน MyMoและรหัสผ่าน OTP สุดท้ายอาจสวมรอยถอนเงินออกจากบัญชีได้
 
ขอให้ลูกค้าและประชาชนสังเกตไลน์ “GSB Society” ของจริง จะต้องมีโล่สีเขียว (พื้นเขียวมีดาวห้าแฉกตรงกลาง) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงการเป็นแอคเคาท์แท้พรีเมียม ผ่านการรับการรับรองจากบริษัทไลน์ (ไทยแลนด์) วางไว้ด้านหน้าตัวอักษรคำว่า GSB Society
 
ส่วนเพจเฟซบุ๊ก GSB society ของจริงจะต้องมีสัญลักษณ์เครื่องหมายวงกลมเล็กๆ สีน้ำเงิน มีเครื่องหมายถูกอยู่ตรงกลาง ต่อท้ายตัวอักษรคำว่า GSB Society หากสังเกตไม่พบคุณลักษณะตามรายละเอียดข้างต้น ถือว่าเป็นไลน์และเฟซบุ๊ก GSB Society ปลอม
 
พร้อมแนะนำว่าอย่าให้ข้อมูลทางด้านการเงินแก่บุคคลอื่นเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น เลขที่สมุดบัญชีเงินฝาก เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่าน MyMo หรือแม้แต่รหัส ATM และรหัสผ่าน OTP แก่ผู้ใดทราบ
 
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังย้ำด้วยว่า มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 3 เดือนของธนาคารในครั้งนี้ กำหนดให้ดำเนินการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อีกทั้งธนาคารออมสินไม่เคยมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ติดต่อขอหลักฐานใดๆ มายืนยันเพิ่มเติมทั้งสิ้น หากลูกค้ามีข้อสงสัยสามารถติดต่อสาขาที่ตนใช้บริการ หรือติดต่อศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ Call Center 1115
 



ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com
 

หากพบเจอปัญหาเหล่านี้โปรดติดต่อธนาคารผู้ให้บริการ หรือถ้าหากไม่มั่นใจไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัวใดใดเด็ดขาด  เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในยุดดิจิตอลแบบนี้ ที่สำคัญควรตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะทำธุรกรรมเพื่อความปลอดภัยนะคะ^^


 

Share this post :